วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561

กระบวนการสอนค่านิยมและจริยธรรม


     เมื่อกล่าวถึงคำว่า  คุณธรรม  และ  จริยธรรม  คงเป็นคำที่คนทั่วไปรู้จักกันดีแต่จะมีสักกี่คนที่รู้ถึงความหมายของคำ  2  คำนี้อย่างถ่องแท้จนสามารถพัฒนาตนให้เป็นคนเก่ง   ดี   มีสุข   ได้ตามเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาที่มุ่งหวังให้ประชาชนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าว   เนื่องจากการที่บุคคลเป็นคนเก่งอย่างเดียวมิใช่คุณสมบัติของพลเมืองที่น่าปรารถนา  เพราะการเป็นคนเก่งแต่ไร้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมจะนำพาสังคมและประเทศชาติล่มจม   ดังนั้นการพัฒนาให้เยาวชน  ตลอดจนประชาชนในประเทศเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมสูงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งและต้องเป็นไปอย่างถูกวิธีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

     ประชาชนและนักวิชาการนอกสาขาจิตวิทยามักมีความสับสนระหว่างคำว่า         ค่านิยม  คุณธรรม  และ จริยธรรม  และมักใช้ทั้ง  3  คำนี้ทดแทนกัน  ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทยเป็นไปอย่างผิดทิศทาง   การสับสนของความหมายทั้ง  3  คำนี้ตลอดจนใช้คำทั้ง  3  คำนี้ทดแทนกันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง   เนื่องจากคำทั้ง  3  คำนี้มีความหมายที่แตกต่างกัน  คือ  ค่านิยม  หมายถึง  สิ่งที่คนส่วนใหญ่   เห็นว่ามีความสำคัญจึงเลือกที่จะปฏิบัติตามความเห็นเช่นนั้น  เช่น  ค่านิยมที่จะต้องจบการศึกษาขั้นสูงเพราะเห็นความสำคัญของการศึกษาที่จะเป็นประตูเปิดไปสู่อนาคตที่ดีกว่า   ค่านิยมไทยเพราะเห็นความสำคัญของ      การอนุรักษ์วัฒนธรรมและมรดกของไทย  เป็นต้น   คุณธรรม  หมายถึง  สิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าดีงามถูกต้อง  โดยมากมักเกี่ยวข้องกับหลักธรรมทางศาสนา  เช่น  ความเสียสละ  ความสามัคคี  ความซื่อสัตย์  ความรับผิดชอบ  ความมีวินัย  เป็นต้น   ส่วน จริยธรรม  หมายถึง  เจตนาของการกระทำหรือไม่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด  โดยการตัดสินใจนั้นจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อใครหรือลดผลเสียต่อใครเป็นหลัก   ถ้าเอื้อประโยชน์หรือลดผลเสียแก่คนส่วนใหญ่จะแสดงถึงความมีจริยธรรมสูง   การเผชิญกับการตัดสินใจในลักษณะนี้  มักปรากฏเมื่อบุคคลตกอยู่ท่ามกลาง   ความขัดแย้งของคุณธรรมมากกว่า  2  ประการขึ้นไป   เช่น  ความขัดแย้งระหว่างความกตัญญูกับความถูกต้องยุติธรรม สอดคล้องกับงานวิจัยของพรรณทิพย์  ศิริวรรณบุศย์ ที่ศึกษาเรื่องจริยธรรม  โดยศึกษาถึงความเชื่อทางจริยธรรมของคนไทยในยุคปัจจุบันพบว่า คนไทยมีความเชื่อทางจริยธรรมที่ดี  รู้ว่าอะไรถูกผิด  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ  ขาดความสอดคล้องระหว่างความเชื่อกับพฤติกรรมที่เคยทำและจะทำต่อไป  จึงทำให้เกิดจริยธรรมสองมาตรฐานระหว่างจริยธรรมที่กำหนดว่า อยากเห็นคนอื่นทำกับจริยธรรมของส่วนบุคคล   ดังนั้นจึงเป็นการยากลำบากสำหรับบุคลในการที่จะตัดสินใจเลือก  ทั้งนี้ในเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมยังมีปัจจัยอีกหลายด้านที่มีส่วนในการตัดสินใจต่อการแสดงพฤติกรรมของบุคคล   ซึ่งเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมนี้มีบุคคลในแวดวงวิชาการ  ตลอดจนนักวิจัยที่ได้ทำการศึกษาอย่างมากมายมาเป็นเวลานาน

    จากการที่ผู้เขียนมีความสนใจศึกษาค้นคว้า  ตลอดจนทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมกับรูปแบบการพัฒนา   โดยการสังเคราะห์เอกสารพบว่ามีรูปแบบการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมที่น่าสนใจมากมายซึ่งล้วนแต่ผ่านกระบวนวิจัยมาโดยทั้งสิ้น ดังเช่นรายการวิจัยเรื่อง การศึกษารูปแบบและวิธีการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม  โดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มประชากรที่เป็นผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมโดยตรงจากหน่วยงานต่าง ๆ  จำนวน 252  หน่วยงาน   โดยแบ่งเป็น  3  กลุ่ม  ได้แก่  กลุ่มที่ 1  เป็นส่วนราชการที่เป็นกระทรวง  ทบวง  กรมต่าง ๆ  จำนวน  141  ส่วนราชการ  ในจำนวนนี้เก็บข้อมูลกลับคืนมาได้  98  ส่วนราชการ  คิดเป็นร้อยละ  69.50   กลุ่มที่ 2  ส่วนจังหวัด  จำนวน  76  จังหวัด  ในจำนวนนี้เก็บข้อมูลกลับคืนมาได้  47  จังหวัด  คิดเป็นร้อยละ  61.84   และกลุ่มที่  3  สถาบันการศึกษา  จำนวน  35  แห่ง  ในจำนวนนี้เก็บข้อมูลกลับคืนมาได้  19  แห่ง  ผลการศึกษาวิจัยพบว่า  รูปแบบที่ใช้พัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมในหน่วยงานมากที่สุด  ได้แก่  รูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไปตาม   ความเหมาะสมและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง   รองลงมา  ได้แก่  รูปแบบที่ไม่เปลี่ยนแปลงและใช้รูปแบบที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา   ส่วนวิธีการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมในหน่วยงาน  พบว่า  ใช้วิธีการฝึกอบรมมากที่สุด  รองลงมาตามลำดับได้แก่   วิธีการบรรยายพิเศษ   การสัมมนา   การจัดทัศนศึกษาดูงานและวิธีการใช้กิจกรรมกลุ่ม   วิธีการที่ใช้น้อยที่สุดคือ   แข่งขันตอบปัญหา   รองลงมา  ได้แก่   การเลือกตัวอย่าง   การสาธิต   การประกวดคำขวัญและการอภิปราย   นอกจากนี้ยังพบอีกว่า วิธีการที่ใช้พัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมอื่น ๆ  ได้แก่   การหาสื่อต่าง ๆ  เช่น  หนังสือ   เทป (แถบเสียง)   วีดีโอ (แถบภาพ)   มาให้บริการ   ตลอดจนการช่วยแก้ปัญหาและการให้คำปรึกษาแนะนำเป็นรายบุคคล   อีกทั้งยังใช้วิธีการสร้างคำขวัญร่วมกันทั้งหน่วยงาน  เป็นต้น   นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบว่า การจัดเนื้อหาในการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมมีลักษณะการจัดเป็นหัวข้อเสริมในหลักสูตรมากที่สุด   เวลาที่ใช้ในการพัฒนาแต่ละครั้งใช้เวลา  3  ชั่วโมงเป็นส่วนมาก   การพัฒนานั้นมีกลุ่มเป้าหมายเป็นข้าราชการ    มากที่สุด   มีลักษณะการพัฒนาที่พบมากเป็นแบบต่อเนื่องทุกปี   ในปีหนึ่ง ๆ มีการพัฒนาจำนวน  3  ครั้งมากที่สุด   และจากที่ผ่านมามีจำนวนผู้เข้ารับการพัฒนาจำนวนมากที่สุดถึง  3,000  คน   และในการพัฒนาได้ประสบผลสำเร็จระดับร้อยละ  80  มากที่สุด การพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ข้าราชการเป็นส่วนมาก  และรองลงมา  ได้แก่  การพัฒนาทำตามเป้าหมายที่ต้องการตอบสนองต่อนโยบายของหน่วยงาน  ข้อคุณธรรมที่สำคัญและได้มุ่งทำการพัฒนามากที่สุด  ได้แก่  ความรับผิดชอบ   รองลงมา  ได้แก่  ความซื่อสัตย์   ความสำนึกในหน้าที่   ความเสียสละและสุจริตในหน้าที่   จากที่ผ่านมาพบว่า  ข้อคุณธรรมที่สามารถพัฒนาได้สัมฤทธิ์ผลดีมาก  ได้แก่  ความรับผิดชอบ   รองลงมา  ได้แก่  ความซื่อสัตย์   ความสำนึกในหน้าที่  ความสามัคคี   ความมีเหตุมีผลและความเสียสละ  โดยใช้วิธีการพัฒนาในรูปแบบของการจัดหลักสูตรฝึกอบรมมากที่สุด   รองลงมา  ได้แก่  วิธีการจัดการบรรยาย   วิธีการทำกิจกรรมร่วมกัน  ตามลำดับ   และพบว่าวิธีการประเมินผลใช้วิธีการสังเกตขณะดำเนินการพัฒนามากที่สุด   และจาการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมที่ผ่านมาได้ปรากฏผลสำเร็จ  คือ  ข้าราชการเกิดความสามัคคีกัน  ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานมากที่สุด   รองลงมาได้แก่  ข้าราชการมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่มากขึ้นทั้งในการทำงาน  ครอบครัวและสังคม   นอกจากนั้นเป็นความสำเร็จในเรื่องอื่น ๆ   สำหรับในเรื่องของจุดอ่อนหรือปัญหาที่ทำให้การพัฒนาไม่ได้ผล  พบว่า  เกิดจากการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมทำได้กับบุคคลเป็นบางส่วนซึ่งเป็นส่วนน้อย   โดยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกอบรมพัฒนาเนื่องมาจากมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ   เจ้าหน้าที่และสถานที่ไม่พร้อม  เป็นต้น   ทั้งนี้ได้พบว่า  วิธีการแก้ปัญหาอุปสรรคการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมควรมีการพัฒนาอย่างจริงจัง   เน้นความเป็นระบบและทำด้วยความต่อเนื่อง   นอกจากนี้เป็นวิธีการแก้ปัญหาอุปสรรคลักษณะอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไป

     ส่วนรายงานการวิจัยเรื่อง รูปแบบการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนิสิตนักศึกษา  พบว่า การพัฒนานิสิตนักศึกษาด้านคุณธรรม  จริยธรรม  ประเด็นทางคุณธรรม  จริยธรรมที่ควรนำมาใช้ในการพัฒนานิสิตนักศึกษา  ได้แก่  ความซื่อสัตย์สุจริต  ความอ่อนน้อมถ่อมตน  ความรอบคอบ  การมีวินัยในตนเอง  คุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต  การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข  ความมุ่งมั่นพากเพียรและพยายาม (ความอดทน อุตสาหะ)  จิตใจของความเป็นผู้ให้  ความรับผิดชอบ  จิตใจที่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมและจรรยาบรรณวิชาชีพ   และเมื่อนำประเด็นต่าง ๆ มาสังเคราะห์เป็นแนวคิดในการพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์แก่นิสิตนักศึกษา  ควรกำหนด   ทิศทางการพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมแก่นิสิตนักศึกษา  ดังนี้  อันดับหนึ่งคือ  จริยธรรมเพื่อการทำงานและการประกอบอาชีพ  ได้แก่  มุ่งเน้นในเรื่องคุณธรรมในการทำงานและคุณธรรม  จริยธรรมตามกรอบวิชาชีพ  หรือที่เรียกว่า จรรยาบรรณวิชาชีพ   อันดับสองคือ  จริยธรรมในการดำรงชีวิต  ได้แก่  มุ่งเน้นในเรื่องการเสริมความสามารถในการจัดระเบียบชีวิต  การมีความมุ่งมั่นพากเพียร  ความรับผิดชอบต่อตนเอง  การมีค่านิยมการเรียนรู้  การมีค่านิยมพอเพียง  เรียนรู้ตลอดชีวิตและการเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม  และอันดับสามคือ  จริยธรรมที่มีต่อส่วนรวม  ได้แก่  มุ่งเน้นในเรื่องการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม  จิตใจแห่งการเสียสละและจิตใจของความเป็นผู้ให้   ส่วนลักษณะรูปแบบกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมแก่นิสิตนักศึกษา  ได้แก่             การจัดกิจกรรมฝึกอบรมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะทางจริยธรรมโดยเฉพาะกิจกรรมที่หลากหลายในโครงการเดียว  เพื่อสร้างเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์  เช่น  กิจกรรมสร้างเสริมคุณลักษณะกตัญญูกตเวที เป็นต้น   การจัดกิจกรรมสร้างเสริมจิตสำนึกต่อสถาบัน  เช่น  กิจกรรมรำลึกผู้ก่อตั้งสถาบัน เป็นต้น   การจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้นิสิตนักศึกษามีคุณธรรม   การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณธรรม  จริยธรรมที่ดีในตึกพักหรือหอพัก การจัดโครงการกิจกรรมโดยมีนิสิตนักศึกษาจากหลากหลายสาขาวิชาดำเนินกิจกรรมด้านบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกัน   การจัดกิจกรรมที่ทำให้นิสิตนักศึกษาได้เพิ่มพูนทักษะเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบอย่างชีวิตของบุคคลที่สังคมยกย่อง   การจัดกิจกรรมซึ่งส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาคิดวิเคราะห์  และการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้รับรู้สถานการณ์หนึ่งอันจะก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์จริง       



     รายงานการวิจัยเรื่องสุดท้ายที่จะนำเสนอ คือ เรื่อง รูปแบบ  ยุทธศาสตร์และแนวทาง   การบูรณาการศาสนากับการศึกษาของวัดในพระพุทธศาสนา : กรณีศึกษาตามอัธยาศัย"  โดยทำการสังเคราะห์ผลการวิจัยกรณีศึกษาการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของวัด  จำนวน  23  วัด  ผลการวิจัยพบว่า  รูปแบบกิจกรรมที่จัด  ได้แก่   การจัดสภาพแวดล้อมของวัดให้เป็นแหล่งการเรียนรู้   การจัดศาสนพิธี   พิธีกรรม   กิจกรรมการผลิตสื่อ   การจัดตั้งห้องสมุด   และแหล่งการเรียนรู้แบบต่าง ๆ   การจัดกิจกรรมเชิงวิชาการ   การจัดตั้งเครือข่ายและวัดอาสา   ประเภทของสื่อที่ใช้ได้แก่   สื่อบุคคล   สื่อธรรมชาติ   สื่อสิ่งพิมพ์   สื่อโสตทัศน์   สื่ออิเล็กทรอนิกส์   สื่อเคลื่อนที่หรือ      สื่อกลางแจ้ง   สื่อพื้นบ้านหรือสื่อประเพณีและสื่อชุมชนหรือสื่อท้องถิ่น   ส่วนยุทธศาสตร์การบริหารการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของวัดให้ประสบผลสำเร็จ   มีองค์ประกอบทางการบริหารที่สำคัญคือ  ระบบและรูปแบบการบริหาร  เจ้าอาวาส  บุคลากร  พระสงฆ์  สามเณรและฆราวาส  งบประมาณ  เทคโนโลยี  เครื่องมือ  วัสดุอุปกรณ์  สภาพแวดล้อมและความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน   ส่วนแนวทางการบูรณาการการศาสนากับการศึกษาตามอัธยาศัยของวัดเน้นแนวคิดหลัก บวร  การบูรณาการการศาสนา  ศิลปะ  วัฒนธรรม  การศึกษา  ภูมิปัญญาไทย  อาชีพกับวิถีชีวิต  เป็นองค์รวมความสัมพันธ์ในลักษณะการพึ่งพาซึ่งกัน    และกัน  การสร้างความร่วมมือและเครือข่าย  ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยของวัดเน้นการบริหารจัดการ  ผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้  รูปแบบกิจกรรม  สื่อ  องค์กร  และการบูรณาการศาสนากับการศึกษา

     จากการนำเสนอรายงานการวิจัยทั้ง 3 เรื่องจะเห็นได้ว่า  ไม่ว่าจะเป็นสถาบันข้าราชการ   สถาบันการศึกษา  และสถาบันศาสนาต่างให้ความสำคัญกับเรื่องคุณธรรม  จริยธรรมกับการพัฒนาทั้งสิ้น  โดยมีรูปแบบคล้ายคลึงกันเป็นส่วนมาก   ซึ่งสถาบันเหล่านี้มุ่งเน้นการตอบสนองต่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ.  พ.ศ. 2542    มาตรา 6   ที่กล่าวถึง   การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย   จิตใจ   สติปัญญา   ความรู้และคุณธรรม   มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต   สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข   และมาตรา 23   กล่าวถึง   การจัดการศึกษา   ทั้งการศึกษาในระบบ   การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย   ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้   คุณธรรม  และมาตรา 24   การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการเรียนการสอน   โดยผสมผสานสาระความรู้ต่าง ๆ   อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน   รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม   ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา และตอบสนองต่อแผนการแผนการศึกษาแห่งชาติ  พศ.2545-2559  ที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้สามประการคือ  การพัฒนาคนอย่างรอบด้านและสมดุล  สร้างสังคมคุณธรรม  ภูมิปัญญาและการเรียนรู้และพัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคม   ตลอดจนตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10  พ.ศ.2550-2554  ในยุทธศาสตร์ที่ 1  คือ  ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้  ที่กำหนดไว้เพื่อการพัฒนาคนให้มีคุณธรรมนำความรู้  เกิดภูมิคุ้มกัน   เพื่อการเสริมสร้างสุขภาวะคนไทยให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ  มีความสัมพันธ์ทางสังคมและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่   และเพื่อ   การเสริมสร้างคนไทยให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข

     จากที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น  คุณธรรมและจริยธรรมกับรูปแบบการพัฒนาเป็นสิ่งที่สำคัญและควรมีการส่งเสริมอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของเยาวชน  ตลอดจนประชาชนในประเทศเพื่อให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการเสริมสร้างสังคมให้ยั่งยืนต่อไป



หมายเหตุ  ส่วนหนึ่งของการวิจัย  ในส่วนของการสังเคราะห์  และลงครุจันทรสาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คำถามท้ายบทที่ 1 - 7

คำถามท้ายบทที่ 1 1. เมื่อนักศึกษาได้ศึกษาหา เรื่อง แนวคิดการออกแบบการเรียนรู้การสอนในบทที่ 1 ท่านคิดว่า การออกแบบการเรียนการสอนมีความ...